วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565
แผนสำหรับการอพยพคนไทยในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
หน่วยงานราชการไทยประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว อันประกอบด้วย สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร สำนักงานที่ปรึกษาการศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ได้ร่วมกันพิจารณาแผนสำหรับการอพยพคนไทยในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน และสามารถกำหนดรายละเอียดของแผน โดยยึดหลักจำนวนคนไทยในเขตอาณา ประมาณ 200 400 คน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ ในเขตอาณาจะเป็นนักศึกษาที่มาเรียนภาษาระยะสั้น
1. การเตรียมการ
1.1. ปรับปรุงทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ ของคนไทยพร้อมครอบครัวและบริษัทของคนไทยในความดูแลของ สกญ. ประมาณ 250 คน
1.2. จัดทำทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ของ สกญ. แล้วแจ้งเวียนให้ผู้แทนคนไทยในพื้นที่ทราบ
1.3. จัดทำทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่พร้อมหมายเลขโทรศัทพ์ของหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานการต่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง มณฑลไห่หนาน สายการบินต่าง ๆ เป็นต้น
1.4. จัดทำทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ของคณะกงสุลมิตรประเทศ
1.5. จัดทำทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ
1.6. จัดทำทะเบียนทรัพย์สิน ครุภัณฑ์ เอกสารราชการและอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ เพื่อแบ่งว่าประเภทใดจะเก็บรักษาไว้ที่สำนักงาน และประเภทใดต้องขนย้ายไปด้วยในกรณีฉุกเฉิน เพื่อความสะดวกต่อการจัดเก็บและการขนย้ายเร่งด่วน
1.7. ตรวจสอบสภาพอาคารที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ ปรับปรุงมาตรการการรักษาความปลอดภัย
2. การมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ
2.1. กสญ. - กำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการ ประสานงานและหาข่าวระดับสูง ควบคุมกำกับดูแลรับผิดชอบแผนปฏิบัติการในฐานะหัวหน้าสำนักงาน
2.2. รอง กสญ. - ประสานงานและหาข่าว และช่วยควบคุมกำกับดูแลและรับผิดชอบในฐานะรองหัวหน้าสำนักงาน
2.3. กงสุล/ รองกงสุล - กสญ มอบหมายหน้าที่โดยแบ่งความรับผิดชอบตามสายงานและให้ประสานข้อมูลซึ่งกันและกัน
2.3.1. ติดตามข่าวสถานการณ์ ประมวลข่าว ประสานกระทรวงฯ และหน่วนงานท้องถิ่นและคณะกงสุล
2.3.2. ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ทั้งสถานที่และบุคคล รวมทั้งทรัพย์สินและเอกสารราชการของไทย
2.3.3. เตรียมการเกี่ยวกับเอกสารการเดินทางและหนังสือติดต่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.3.4. เตรียมการสำรองงบประมาณ สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์สื่อสาร ยานพาหนะให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ยารักษาโรคให้เพียงพอในกรณีฉุกเฉิน
2.3.5. ประสานกับตำรวจและสำนักงานการต่างประเทศ ตลอดเวลาเพื่อการติดต่อขอกำลังคุ้มครองสถานที่และบุคคลตามความจำเป็น
2.3.6. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ กสญ. มอบหมาย
2.4. เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
2.4.1. ช่วยประสานงานกับเจ้าหน้าท้องถิ่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
2.4.2. ระมัดระวังและดูแลรักษาความปลอดภัย
2.4.3. เพิ่มความเข้มงวดกับบุคคลภายนอกที่มาติดต่อราชการ
2.4.4. ตรวจสอบสภาพยานพาหนะและอุปกรณ์สื่อสารให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันที
2.4.5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ กสญ. มอบหมาย
3. การกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย
3.1. การรักษาความปลอดภัยสถานที่
กสญ. มอบหมายข้าราชการทำหน้าที่ควบคุมดูแลสถานที่อาคารที่ทำการ โดยสำรวจสภาพบริเวณโดยรอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ หากจำเป็นต้องปรับปรุงก็ให้ดำเนินการตามความเหมาะสม จัดหาบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ สกญ.ได้ปรับปรุงระบบโทรทัศน์วงจรปิดให้ทันสมัย ติดตั้งระบบลายนิ้วมือในการเข้า-ออกภายในสำนักงาน หากเห็นว่า มีสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานการต่างประเทศ
3.2. การรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน
สำรวจบัญชีทรัพย์สิน ครุภัณฑ์ และเอกสารราชการให้เป็นหมวดหมู่ กำหนดความสำคัญของทรัพย์สิน ชั้นความลับของเอกสารที่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในที่มั่นคงปลอดภัยเพียงพอ ทั้งจากการจารกรรมและภัยธรรมชาติเพื่อมิให้สูญหายหรือถูกทำลาย กำหนดครุภัณฑ์และเอกสารที่สำคัญที่ต้องนำไปด้วย กรณีที่ต้องอพยพแล้วรายงานให้กระทรวงฯ พร้อมแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อทราบและอารักขา สำรวจปรับปรุงสภาพครุภัณฑ์สื่อสารและยานพาหนะให้อยู่ในสภาพพร้อมและเพียงพอแก่การใช้งาน
3.3. การรักษาความปลอดภัย
3.3.1. กำหนดช่องทางเข้าออกที่ทำการ สกญ. สำหรับบุคคลภายนอกเพียงช่องทางเดียว เพื่อความปลอดภัย
3.3.2. ปิดล็อคกุญแจประตูเข้า-ออกตลอดเวลา
3.3.3. จัดเวรยามดูแลและสอบถามวัตถุประสงค์ผู้มาติดต่อและแลกบัตรเข้า-ออก โดยลงบันทึกเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ ในกรณีต้องสงสัยต้องขอตรวจค้นบุคคลที่มาติดต่อด้วย
4. แผนปฏิบัติการ
4.1 กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน/การชุมนุมประท้วง/สงคราม/การจลาจลซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานได้ ดังนี้
4.1.1. ติดตามสถานการณ์และข่าวสารอย่างใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า โดยใช้ความแนบเนียนประสานเครือข่ายของ สกญ. ทุกด้าน ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น คณะกงสุลทั้งระดับสูงและเจ้าหน้าที่ แล้วรายงานกระทรวงฯ ทราบเป็นระยะ ๆ
4.1.2. ประกาศเตือนชาวไทยในมณฑลกวางตุ้งและไห่หนานให้ทราบถึงความรุนแรงและแนวโน้มของสถานการณ์และให้ระมัดระวังในการสัญจร/ดำเนินธุรกิจตามลำดับพัฒนาการของสถานการณ์
4.1.3. แจ้งเตือนคนไทยและบริษัทห้างร้านไทยในความดูแลให้ทราบล่วงหน้าเพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมเอกสารเดินทาง เครื่องยังชีพ และอุปกรณ์สื่อสาร โดยกำหนดให้มีผู้ประสานงานกลุ่มคนไทยจำนวนหนึ่งเพื่อมอบหมายหน้าที่กระจายข่าวสาร และรับผิดชอบหน้าที่เป็นศูนย์รวมในแต่ละกลุ่ม
4.1.4. กำหนดสถานที่เป็นศูนย์พักพิงของคนไทย โดยอาจใช้ที่ทำการ สกญ. เพื่อใช้เป็นจุดรวมในยามฉุกเฉิน
4.1.5. จัดเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ สิ่งของเครื่องใช้จำเป็น เครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์สื่อสาร ยานพาหนะ ให้เพียงพอสำหรับคนไทยและเจ้าหน้าที่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลายและสงบลง หรือเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพ
4.1.6. ประสานงานหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบเป็นระยะ ๆ
4.1.7. หากสถานการณ์ร้ายแรงจนต้องลำเลียงคนไทยออกนอกพื้นที่ สกญ. จะประกาศให้คนไทย ที่ไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดินทางกลับประเทศไทยก่อน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินพาณิชย์ รวมทั้งดำเนินการขอเพิ่มเที่ยวบินหากมีความจำเป็น เพราะหากสถานการณ์เลวร้าย การอพยพออกนอกประเทศจะกระทำได้ยาก
4.1.8. สำหรับผู้ที่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ แต่ปฏิเสธที่จะเดินทางไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด สกญ. จะประสานแนวทางปฎิบัติในการติดต่อกับ สกญ. ในกรณีฉุกเฉิน หรือการติดต่อกับหน่วยงานอื่น ๆ ของจีนหรือมิตรประเทศที่ได้รับการร้องขอให้ทำหน้าที่ดูแลสันติภาพและความปลอดภัยของบุคคลส่วนนี้ ในกรณี ที่มีความจำเป็นต้องปิด สกญ. และขอให้บุคคลผู้นั้นดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของตนเองอีกทางหนึ่ง
4.2. กรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน/การชุมนุมประท้วง/สงคราม/การจลาจลซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
4.2.1.รายงานกระทรวงฯ และประสานหน่วยงานท้องถิ่นเท่าที่จะหาช่องทางติดต่อได้
4.2.2.ติดต่อประสานงานกลุ่มคนไทย เพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือ หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ให้หาทางรวมตัวอยู่ในที่ปลอดภัยตามที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ใน ข้อ 1 และข้อ 4.1
4.3. กรณีภัยธรรมชาติและโรคระบาด
4.3.1.ติดตามสถานการณ์และประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด รายงานกระทรวงฯ เกี่ยวกับสถานการณ์
4.3.2.ติดต่อประสานงานกับกลุ่มคนไทย และพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยตามแต่กรณี
4.3.3.หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายให้หาทางรวมตัวอยู่ในที่ปลอดภัยตามที่ได้เตรียมความพร้อมไว้ใน ข้อ 1 และข้อ 4.1
5. แผนอพยพคนไทย
5.1. ขั้นตอนการดำเนินการ
5.1.1. วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า และรายงานกระทรวงฯ เมื่อเห็นว่าจำเป็นต้องอพยพคนไทยกลับประเทศ หรือไปประเทศที่สามที่ปลอดภัย
5.1.2. แจ้งหน่วยงานท้องถิ่นเรื่องการอพยพคนไทยในท้องที่ ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผนอพยพ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลถึงคนไทยในพื้นที่
5.1.3. รวบรวมทรัพย์สินและเอกสารสำคัญที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ไว้ในที่ปลอดภัย และแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้การอารักขาสถานที่และทรัพย์สินเหล่านั้น
5.1.4. ประสานงานหน่วยงานท้องถิ่น คณะกงสุล กรณีที่ต้องร่วมอพยพไปด้วยกัน
5.1.5. กำหนดเส้นทางอพยพ โดยประสานกับผู้นำกลุ่มคนไทย ซักซ้อมความเข้าใจและเตรียมความพร้อมและกำหนดให้เหมาะสมกับจำนวนคนไทยในความดูแล และความน่าจะเป็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจะต้องอพยพทางเครื่องบิน ทางบก หรือทางเรือ
(1) กรณีอพยพทางเครื่องบินเป็นแนวทางที่เหมาะสมและใช้เวลาน้อยที่สุด
กำหนดช่วงเวลาการอพยพ ซักซ้อมความเข้าใจ และประสานงานโดยตลอดเวลาและอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่น ท่าอากาศยาน บริษัทการบิน เพื่อสำรองที่นั่งเที่ยวบินปกติ หรือจัดเที่ยวบินพิเศษและเตรียมยานพาหนะรับ-ส่ง และจัดชุดคุ้มครองคนไทยไปสนามบิน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย
(2) กรณีอพยพทางบก เรื่องจากสนามบินไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้ หรือเส้นทางสนามบินไม่ปลอดภัย
กำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
ก. กำหนดเส้นทางอพยพที่ใกล้และปลอดภัยที่สุด และประสานกับประเทศที่สามที่ต้องผ่านแดนหรือต้องไปอาศัยชั่วคราว และรายงานกระทรวงฯ ทราบเพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือระหว่างเส้นทางที่อพยพ
ข. เตรียมการด้านงบประมาณเพื่อใช้ระหว่างการเดินทาง
ค. ติดต่อยานพาหนะและเช่ารถโดยสาร หรือจัดหารถโดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคนไทยในกรณีต้องแยกกลุ่ม หรือต้องทยอยอพยพตามลำดับความสำคัญก่อน-หลัง
ง. ติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นจัดรถอารักขา (หากสามารถทำได้)
จ. เตรียมเสบียง น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นให้เพียงพอ
(3) กรณีที่ต้องอพยพทางเรือ
กำหนดขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
ก. กำหนดเส้นทางอพยพทางเรือเพื่อไปประเทศไทย หรือเพื่อไปประเทศที่สามและต่อไปประเทศไทย หรือพำนักอาศัยชั่วคราวในประเทศที่สามจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รายงานกระทรวงฯ ทราบเพื่อประสานงานเกี่ยวกับการรับคนไทยและประสานงานหน่วยงานท้องถิ่นประเทศที่สาม
ข. เตรียมการด้านงบประมาณเพื่อใช้ระหว่างการเดินทาง
ค. จัดเตรียมการด้านพาหนะรับ-ส่งไปท่าเรือ
ง. ติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นจัดรถอารักขา (หากสามารถทำได้) ถึงท่าเรือ
จ. เตรียมเสบียง น้ำดื่ม และของใช้จำเป็นให้เพียงพอ
*************************************
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
สิงหาคม 2553