วันที่นำเข้าข้อมูล 18 พ.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 นายวศิน เรืองประทีปแสง กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พร้อมด้วยน.ส.พรรณกาญจน์ เจียมสุชน กงสุลฝ่ายพาณิชย์ นายพิสุทธิ์ โชติอำไพกรณ์ กงสุลฝ่ายการลงทุน และคณะ เข้าเยี่ยมชมตลาดค้าส่งผลไม้เจียงหนาน (Guangzhou Jiang Nan Fresh Fruit & Vegetables Wholesale Market) โดยมีนายก่วน จื้อเฉียง รองผู้จัดการใหญ่ บริษัทค้าส่งผักและผลไม้(กว่างโจว)เจียงหนาน จำกัด ให้การต้อนรับ
ตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2537 โดยธุรกิจเดิมคือการค้าส่งผัก เริ่มดำเนินธุรกิจค้าส่งผลไม้เมื่อปี 2545 ในช่วง 10 กว่าปี ที่ผ่านมา ตลาดเจียงหนานได้กลายเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่และมีมูลค้าการซื้อขายสูงสุดในจีน มีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 4 แสนตารางเมตร ใช้ในการค้าส่งผัก 180,000 ตารางเมตร และค้าส่งผลไม้ 180,000 ตารางเมตร ผักและผลไม้ที่ค้าส่งในตลาดรวมทั้งหมด 1,000 กว่าชนิด ในปี 2558 มีปริมาณการค้าส่งผักและผลไม้รวม 5.107 ล้านตัน มูลค่ากว่า 24,818 ล้านหยวน
พื้นที่ค้าส่งผักแบ่งเป็น 4 เขต ไก้แก่ ผักแห้ง ผักสด ผักขึ้นชื่อและผักที่ปลูกในมณฑลกวางตุ้ง มีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจค้าส่งผักรวมทั้งหมดกว่า 500 ราย ปริมาณการค้าส่งผัก
ในตลาดประมาณ 7,000 ตัน/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของปริมาณทั้งหมดที่จำหน่าย ในท้องตลาดของเมืองกวางโจว
พื้นที่ค้าส่งผลไม้แบ่งเป็น 4 เขต ได้แก่ ผลไม้ภายในประเทศ ผลไม้ขึ้นชื่อภายในประเทศผลไม้นำเข้าจากยุโรปและผลไม้นำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน ในจำนวนนี้ ปริมาณการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของประเทศจีน
ประเทศที่ส่งผลไม้เข้าสู่ตลาดเจียงหนานได้แก่ เช่น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น ผลไม้ไทยเข้าตลาดเจียงหนานเฉลี่ยวันละ 100 ตู้/วัน สูงสุด 300 ตู้/วัน โดยเฉลี่ยมีผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดเจียงหนานวันละ 1,000 ตัน และในปริมาณทั้งหมดของผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น ผลไม้ไทยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 70 – 80 ปัจจุบันนี้ ผลไม้ไทยที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน มังคุดและลำไย
ตลาดเจียงหนานมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สมบูรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในตลาด เช่น ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าผักและผลไม้ ธนาคาร ที่จอดรถ ห้องเย็นขนาดบรรจุสินค้าได้ 3,000 ตัน ภัตตาคาร และมีศูนย์ธุรกิจที่ทันสมัยและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมืองกวางโจวในด้านการเงินและที่ดิน จึงสามารถได้พัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ เนื่องจากความนิยมและปริมาณของผู้ประกอบการท้องถิ่นชาวจีนที่มักเลือกตลาดเจียงหนานเป็นแหล่งซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายปลีก จึงทำให้สินค้าผักและผลไม้มากมายจากทั่วโลก ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแห่งนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป
รูปภาพประกอบ