การลงทุนไทย-จีนผ่านมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (02/09/53)

การลงทุนไทย-จีนผ่านมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (02/09/53)

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2553

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,251 view

 

 

ในโอกาสที่นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เดินทางมาเยือนนครกว่างโจวเพื่อจัดงานสัมมนา “Thailand Means Business” เพื่อเป็นการชักจูงการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจจีนที่สนใจไปลงทุนในประเทศไทย ในช่วงวันที่ 1-2 กันยายน 2553 

ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเเละเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจไทยและผู้อ่านที่สนใจในแวดวงจีน

 

 

 

BIC: ในมุมมองของท่านรัฐมนตรีฯ ท่านคิดว่าจุดเด่น/จุดขายที่โดดเด่นของไทยในการที่จะดึงดูดนักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในไทยคืออะไร

รมว. ชัยวุฒิฯ: เศรษฐกิจจีนที่ผ่านมานับว่ามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งศักยภาพการลงทุนภายในประเทศจีนเองกมีไม่น้อย แต่ด้วยความได้เปรียบในหลาย ด้านของประเทศไทย ทั้งในเรื่องของพื้นที่ตั้งในภูมิภาค เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การเป็นอาเซียนฮับ รวมถึงในเรื่องของกลุ่มภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ประเทศไทยมีความพร้อม มาตรการการส่งเสริมการลงทุนที่ให้โอกาสนักลงทุนต่างชาติ และที่สำคัญก็คือแหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนงานด้านการลงทุนของบีโอไอ ไม่ว่าโครงการ One Start One Stop Investment ซึ่งตรงนี้ก็จะอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนเข้าไปลงทุนในประเทศไทย และที่ผ่านมาขณะนี้นักลงทุนจากจีนก็เข้าไปลงทุนในประเทศไทยมาก

 

เหตุผลสำคัญที่จีนจะเข้าไปลงทุนในไทยนั้น เพราะว่าไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นทำเลที่จะเป็นแหล่งกระจายสินค้า สามารถลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ หรือแม้แต่การแปรรูปวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า ตัวอย่างเช่น กรณีอุตสาหกรรมยาง ทำไมจีนต้องไปลงทุนในประเทศไทย เพราะเรามียางพารามากอนดับหนึ่งของโลก อุตสาหกรรมนี้เาจึงให้ความสนใจ อุตสาหกรรมด้านการเกษตร จีนสนใจ เพราะว่าไทยมีความสามารถด้านนี้ค่อนข้างสูง

 

BIC: นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของนักธุรกิจจีนที่จะไปไทยมีสิ่งที่แตกต่างจากการดึงดูดนักธุรกิจประเทศ/กลุ่มอื่น ๆ หรือไม่อย่างไร

รมว. ชัยวุฒิฯ: สิทธิประโยชน์ที่เราให้กับนักลงทุนคงเท่าเทียมกัน ไม่ได้แยกเฉพาะจีนหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ดวยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย-จีน ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ที่มีทางด้านการค้าการลงทุนอยู่แล้วนั้น รวมทั้งช่องทางการตลาดทั้งหลาย ผมเชื่อว่านักลงทุนจีนจะได้เปรียบในการไปลงทุนในประเทศไทย และที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าสามารถที่จะดำเนินการและต่อยอดจากอุตสาหกรมในประเทศจีนหรือสามารถไปขยายฐานการผลิตเพือเป็นแหล่งกระจายสินค้า

 

จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและจีน ทำให้การปฎิสัมพันธในการลงทุน ทำกิจการใดในอุตสาหกรรมทั้งหลายมีความสะดวกคล่องตัว มีความได้เปรียบ การปรับตัวก็ง่ายขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุนทั้งไทยที่มาลงทุนในจีนและจีนที่ไปลงทุนในไทยเช่นเดียวกัน โดยในส่วนของสำนักงานที่ส่วนกลางก็มีโต๊ะจีน ซึ่งส่วนงานนี้จะรับผิดชอบส่วนของจีนโดยเฉพาะ รวมถึงมีการทำงานเชิงรุกโดยมีักานที่จีนถึงสามแห่ง คือที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครกว่างโจว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนจีนและนักลงทุนไทยที่มาลงทุนในจีน เป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลรวมถึงการติดต่อเบื้องต้น ซึ่งก็จะทำให้นักธุรกิจจีนที่สนใจจะไปลงทุนได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นในการที่จะตัดสินใจไปลงทุน

 

BIC: โอกาสของธุรกิจอื่นในไทยที่จะเข้ามามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนต่อการพัฒนาการลงทุนของจีนในไทยที่น่าสนใจ

รมว. ชัยวุฒิฯ: ในเรื่องนี้ผมว่าประเทศไทยได้เปรียบมากเพราะว่าคนไทยเชือสายจีนในประเทศไทยเรามีมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของภาษาจีน อาหารการกิน วัฒนธรมดั้งเดิม แหลงบันเทิง หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์จีนเราก็มี นักลงทุนจากประเทศจีนที่จะเข้าไปลงทุนในไทยก็คงไม่ต้องห่วงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้  ซึ่งตรงนี้ผมถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และแน่นอนครับคนไทยเชือสาจีนมีจำนวนมาก ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับคนที่เหมือนญาติกัน เชื้อสายเดียวกันย่อมมีโอกาสสูงมากกว่าในหลายๆ ประเทศ

 

ธุรกิจด้านจีนศึกษาทั้งการสอนภาษาจีน การทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมและปรัชญาของจีน รวมถึงธุรกิจด้านการบันเทิงและสันทนาการที่สอดคล้องกับความต้องการของคนจีน ก็น่าจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสที่จะเข้ามาสนุบสนุนและเอื้อในการที่มีนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งมันเกื้อหนุนต่อกัน เรียกว่าอุตสาหกรรมหรือกิจการต่อเนื่องได้อย่างชัดเจนหรืออาจจะเป็นตัวนำหรือตัวส่งเสริมด้วยซ้ำ

 

BIC: ในโลกยุคปัจจุบันนั้น นอกจากการดึงทุนต่างชาติเข้าไปยังประเทศไทยแล้ว สิ่งสำคัญที่หลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ดังเช่น ประเทศจีนได้มีนโยบายส่งเสริมให้ธุรกิจจีนออกไปลงทุนยังต่างประเทศ (走出去) ตั้งแต่ปี 2543 ประเทศไทยมีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมการลงทุนจากไทยไปต่างประเทศอย่างไร และธุรกิจใดที่ควรจะเข้ามาปักธงไทยในจีน

รมว. ชัยวุฒิฯ: ขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีมติมอบหมายให้ทางบีโอไอหามาตรการความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐว่าจะทำอย่างไรที่จะออกมาตรการส่งเสริมใด ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไทยมีความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้นในการที่จะไปลงทุนในต่างปะเทศ ซึ่งชัดเจนว่าทาบีโอไอเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ ซึ่งผมเองในฐานะประธานอนุกรรมการชุดนี้ก็ได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวงไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยว หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ ในการที่จะขับเคลื่อนนโยบายนี้ เพราะที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าเรามีนักลงทุนจากประเทศไทยไปลงทุนในต่างประเทศ แม้แต่ในประเทศจีน แต่ว่าส่วนใหญ่ก็มาด้วยความสามารถเฉพาะตัว หรือข้อมูลที่อาจจะได้ไม่ครบถ้วน ซึ่งในส่วนนี้เป็นภาระหน้าที่ที่เรามองแล้วเห็นว่า เราจะปล่อยให้นักลงทุน นักธุรกิจของเราโดดเดี่ยวไม่ได้ เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่อย่างน้อยที่สุดในเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลต่าง ๆ กับนักลงทุนไทย รายละเอียด เงื่อนไขการทำงานในประเทศต่าง รวมถึงเรื่องของไฟแนนซ์ มาตรการภาษีในการนำเงินกลับปะเทศ และอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ทางบีโอไอกำลังรวบรวมและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

BIC: การที่มณฑลกวางตุ้งเป็นฐานการผลิตหลักของจีน และนครกว่างโจวเป็นประตูการค้าที่สำคัญของจีนและของโลก ในแต่ละปีมีการจัดงานแสดงสินค้าระดับโลก ณ นครกว่างโจว ในงานแคนตันแฟร์ ถึง 2 ครั้ง  (เดือนเมษายน และเดือนตุลาคม) ครั้งละ 3 เฟส โดยมีพาวิลเลียนสินค้านำเข้านับเป็นหนึ่งในเวทีระดับโลกที่แสดงให้นานาประเทศเห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมและสินค้าของไทย ท่านเห็นว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถใช้โอกาสนี้เข้ามามีบทบาทในการแสดงศักยภาพของประเทศไทยอย่างไรได้บ้าง

รมว. ชัยวุฒิฯ: ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีนะครับ ที่มีคนจัดตลาดมารอไว้ให้ สำนักงานส่งเสริมการลงทุนของเราก็มีการประสานงานกับสำนักงานในส่วนกลางและในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็คงจะเชื่อมโยงในการที่ดำเนินการอย่างไรที่จะมาออกบูธ ออกร้านในการที่จะให้เห็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าของไทยซึ่งคงจะได้ดำเนินการกันต่อไปในโอกาสข้างหน้าและอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราคงไม่จำกัดเฉพาะของกระทรวงอุตสาหกรรมเท่านั้น หน่วยงานในกระทรวงอื่น ๆ เราก็คิดว่าต้องร่วมมือกัน เพราะมีคนมาจัดตลาดให้เรา เพียงแต่ว่าเราต้องนำสิ่งที่เราคิดว่าจะขายได้หรือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพของเราให้ได้มีโอกาสมาเปิดตลาดแสดงให้กับคนจีนหรือแม้แต่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาดูงานนี้ได้รู้จักด้วย

 

BIC: สุดท้ายนี้ขอให้ท่านรัฐมนตรีฯ ฝากถึงนักธุรกิจไทยที่สนใจมาลงทุนในจีนว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมรับมือและสามารถเข้ามาปักธงธุรกิจไทยในจีนได้สำเร็จ

รมว. ชัยวุฒิฯ: นักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน หรือแม้แต่นักลงทุนต่างประเทศที่ไปลงทุนในประเทศไทย ต้องศึกษารายละเอียดข้อมูลในประเทศนั้น ๆ อย่างละเอียด เทคนิค  กฎระเบียบ/กฎหมาย การส่งเสริมทั้งหลายของประเทศจีนอย่างทะลุปรุโปร่งพอสมควร และที่สำคัญถ้าต้องการขายในประเทศนี้ก็ต้องศึกษาการตลาดด้วย ซึ่งตรงนี้นี่ทางสถานทูต/สถานกงสุลใหญ่ สำนักงานพาณิชย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานบีโอไอซึ่งมีสำนักงานอยู่ 3 แห่งในจีน ก็พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเป็นแหล่งข้อมูล การหาผู้ร่วมทุน การดูแลให้ข้อมูลทางธุรกิจ หรือข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว ขณะนี้เรากำลังพยายามก้าวไกลไปถึงขั้นการดำเนินการเรื่องการขอสินเชื่อ การค้ำประกันกับธนาคาร การนำเงินปันผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศกลับประเทศไทย เหล่านี้เราก็กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในเบื้องต้นต้องเรียว่าเรื่องรายละเอียดข้อมูลในแต่ละประเทศโดยเฉพาะในประเทศจีนเป็นสิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนไทยต้องศึกษาให้ดีและถ้าไม่รู้จักนักลงทุนไทยในประเทศจีนก็ใช้บีโอไอเราเป็นจุดเชื่อมเป็นสะพานในการที่จะเข้าถึงข้อมูลได้